วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561

เชิญชมเทวสถาน ปราสาทหินศรีขรภูมิ




             สวัสดีค่ะทุกคน  กลับมาพบกันอีกครั้งในบล็อกนี้ เราจะพาทุกคนไปยังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเรา  นั่นก็คือจังหวัดสุรินทร์ ดังคำขวัญจังหวัดที่ว่า สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม  จะเห็นได้ว่าจังหวัดสุรินทร์นั้นนอกจากจะมีช้างแล้ว ยังมีปราสาทหินต่างๆมากมาย ที่เป็นศาสนสถานและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งปราสาทตาเหมือน ปราสทบ้านที ปราสาทหินบ้านพลวง และอื่นๆ แต่เราเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปราสาทหินศรีขรภูมิให้ทุกคนได้อ่านกัน จะมีรายละเอียดอย่างไร ไปติดตามกันเล้ย!



              ปราสาทศีขรภูมิ หรือปราสาทระแงง (ชื่อเดิมตั้งตามชื่อตำบล) ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์ เชื่อกันว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นปราสาทหินที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมผสมกันระหว่างขอมแบบบาปวนกับแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกายตามวัตถุประสงค์ของหารสร้างปราสาทหินในสมัยเดียวกัน ตัวปราสาทหินถูกล้อมด้วยคูน้ำ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสูงประมาณ 1 เมตร  ปราสาทศีขรภูมิ ได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว โดยกรมศิลปากร ปัจจุบันเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์





              ปราสาทศีขรภูมิ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ศิลปะเขมรอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 และคงดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 สมัยอยุธยาตอนปลาย  ประกอบด้วยปรางค์จำนวน 5 องค์ก่อด้วยอิฐและหินทราย ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบโดยเว้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์บริวาร 4 องค์ ล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ  รูปแบบของผังเป็นการแสดงลักษณะของการจำลองภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ผังลักษณะในประเทศกัมพูชาจะปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทแปรรูป และ ปราสาทนครวัด เป็นต้น โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ปรางค์ประธาน    มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว คือทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าจำหลักภาพศิวนาฏราชบนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งใช้มือจับ เท้าสิงห์ข้างละตัวยืนผงาดชูท่อนทวงมาลัยแยกเป็นวงโค้งออกไปทั้งสองข้างปลาย ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้เป็นวงโค้ง 3 วงลดหลั่นกัน ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ รูปฤษี และ รูปหงส์ ใต้ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้ม้วนเป็นวงโค้งรูปไข่ ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ มีภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางบรรพตี (พระอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประดับกรอบประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดา ลายก้ามปูและรูปทวารบาล บริเวณหน้าบันเป็นอิฐปรากฎร่องรอยของการประดับลวดลายปูนปั้น


ปรางค์ประธาน
ที่มา: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjI1NOW7gP_sRmKWimNiFt0BpIpVLaWqRZCeTE2k80janMmah35lRTsURHW2jcC39s5uSI38js7xegcBNN-ExfXbGd2I8DVDz0tcT8WCmtV0ZhvCCfM-llNQFkMEVCEu-3LojhGS07TG34/s1600/001.jpg

             ทับหลังของปราสาทประธานสลักภาพเล่าเรื่อง "ศิวนาฏราช" ที่มีความงดงามและใกล้เคียงกับต้นฉบับที่ประเทศกัมพูชาค่อนข้างมาก  กล่าวคือ พระศิวะแสดงท่าร่ายรำอยู่เหนือหงส์ซึ่งหมายถึงสวรรค์ ดังนั้นการฟ้อนรำในครั้งนี้จึงหมายถึงการฟ้อนรำบนเขาไกรลาส พระศิวะมี 10 กร ทรงจีบพระหัตถ์โดยไม่ถือสิ่งของใด ๆ  ส่วนลายใบไม้ที่ห้อยลงมาจากท่อนพวงมาลัยเป็นภาพเทพต่าง ๆ  ด้านขวาเป็นเทวสตรีประทับบนดอกบัวทรงดอกบัวและไม้เท้าหัวคนไว้ในพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งน่าจะหมายถึงพระอุมา ถัดมาเป็นพระนารายณ์มี 4 กรถือจักรและสังข์ คธา และธรณี  ด้านซ้ายสุดเป็นพระคเณศและพระพรหมกำลังตีฉิ่ง ที่เสี้ยวเหนือท่อนพวงมาลัยทางด้านขวา เป็นภาพกิราตารชุนนะมูรติ หรือการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกับพระอรชุน ส่วนหนึ่งของมหาภารตะยุทธ ด้านขวา “เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกับพระวิษณุในปางศารเภศภมูรติ” และลายใบไม้สามเหลี่ยมภายในเป็นรูปหงส์  อย่างไรก็ตาม ภาพบุคคลและเรื่องราวของทับหลังชิ้นนี้ ยัง เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

ทับหลังและลวดลายปราสาท
ที่มา : https://prasatsikhoraphum.files.wordpress.com/2010/09/001.jpg

2. ปรางค์บริวารมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม    องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเช่นเดียวกับปรางค์ประธาน พบทับหลัง 2 ชั้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์) ที่ปรางค์บริวารองค์ทิศตะวันตก พบจารึกหินทรายที่ผนังกรอบประตูเป็นจารึกอักษรธรรมอีสานภาษไทย-บาลี เรื่องราวที่จารึกกล่าวถึงกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาร่วมกันบูรณะโบราณสถานแห่งนี้  จารึกอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย-บาลี ได้รับการอ่านและแปลจาก นายพิเชษฐ์ชัยพร และนายเทิม มีเต็ม  ได้ความว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาในท้องถิ่น ได้บูรณะปราสาทหินบ้านระแงง โดยเข้าใจว่าเป็นพระมหาธาตุของศาสนาพุทธ "


         นอกจากทับหลังสลักภาพศิวนาฏราชแล้ว ที่ปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ยังพบทับหลังอีก 2 ชิ้น ที่มีรูปแบบศิลปะในสมัยเดียวกัน แกะสลักเล่าเรื่อง กฤษณาวตาร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ รายละเอียดของแต่ละชิ้นมีลักษณะดังนี้

ชิ้นที่ 1   เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์ การจัดองค์ประกอบ แบ่งทับหลังออกเป็น 2 ส่วน ตามแนวนอน ส่วนบนมีขนาดเล็กกว่าส่วนล่าง ส่วนนี้แกะสลักเป็นภาพฤษี 5 ตน นั่งในท่าโยคาสนะภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนล่าง ตรงกึ่งกลางแกะสลักภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับเท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยลงมาคายท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ปลายท่อนพวงมาลัยม้วนออกเป็นลายคล้ายเศียรนาคสามเศียร เศียรบน คายท่อนพวงอุบะที่ม้วนขึ้นไปยังส่วนบนสุดของทับหลัง ใต้ท่อนพวงมาลัยทำเป็นลายใบไม้ม้วนเป็นวงสองวงคล้ายเลขแปด ทับหลังชิ้นนี้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แกะสลักอย่างประณีตสวยงาม

ชิ้นที่ 2   เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์เช่นเดียวกับชิ้นที่ 1 การจัดองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ตรงกลางทับหลังแกะสลักเป็นภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับ เท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยหัวลงมาคาย ท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ส่วนปลายของท่อนพวงมาลัยด้านขวาหักหายไป ส่วนด้านซ้ายลบเลือน มีลักษณะที่ยังแกะสลักไม่เสร็จ เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ สามเหลี่ยม ส่วนภายในวงโค้งทำเป็นลายใบไม้ม้วน


พระกฤษณะต่อสู้กับสิงห์



              ปัจจุบันทับหลังทั้งสองชิ้นได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ลวดลายทับหลังซึ่งสมบูรณ์มาก โบราณสถานแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกที่หนึ่งในประเทศไทย โดยเฉพาะความงดงามทางด้านศิลปะที่รับเอาวัฒนธรรมจากกัมพูชาและที่อื่นๆเข้ามา จึงเกิดเป็นความงดงามที่วิจิตรบรรจงเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สิ่งที่ปรากฏพบนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงความเชื่อทางศาสนา ที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน หากมีโอกาสคงจะต้องไปศึกษาและชมความงดงามยังสถานที่จริงแน่นอนค่าาา 











แหล่งที่มา :

ชุติมา แพงสีชา. (2556). ปราสาทศรีขรภูมิ. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2561 จาก https://sites.google.com/site/prasathhin/prawati-prasath-hin/prasath-sri-khr-phumi



ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2549). ปราสาทศรีขรภูมิ. สืบค้นเมื่อ  15 มีนาคม 2561 จาก http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/ปราสาทศรีขรภูมิ















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เชิญชมเทวสถาน ปราสาทหินศรีขรภูมิ

             สวัสดีค่ะทุกคน  กลับมาพบกันอีกครั้งในบล็อกนี้ เราจะพาทุกคนไปยังดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเรา  นั่นก็คือจังหว...