สวัสดีค่า ทุกๆคน วันนี้เราจะพาทุกคนมาย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยสุโขทัย อันเป็นดินแดน รุ่งอรุณแห่งความสุข เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าอาณาจักรสุโขทัย จัดว่าเป็นยุคแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ชาติไทย หลายคนคงเคยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรสุโขทัยในแต่ละด้าน โดยเฉพาะโบราณสถานต่างๆที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย รวมไปถึงเรื่องราวทางด้านวิถีชีวิต สังคม การเมืองการปกครอง รวมทั้งเศรษฐกิจในสมัยนั้น
แน่นอนว่าในสมัยสุโขทัยนอกจากจะเป็นเมืองเกษตรกรรมแล้วยังมีการทำอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการผลิตเครื่องสังคโลกและส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เครื่องสังคโลกที่ผลิตขึ้นมา ได้แก่ ถ้วย โถ จาน ชาม เป็นต้น การทำเครื่องสังคโลกนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากไม่มีเตาสังคโลกหรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “เตาทุเรียง” เราจึงหยิบยกเอาข้อมูลที่เกี่ยวกับเตาทุเรียงมาให้ทุกคนได้อ่านกัน มาทำความรู้จักเตาทุเรียงไปพร้อมๆกับเล้ย 😁
ที่มา : https://travel.thaiza.com/guide/243869/
|
“เตาทุเรียง” เป็นชื่อเรียกเตาเผาถ้วย ชาม หรือเป็นที่รู้จักกันในนามถ้วยชามสังคโลกในสมัยสุโขทัย ซึ่งเริ่มมีการผลิตตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 โดยทั่วไปแล้ว เตาทุเรียง หมายถึง เตาที่อยู่บริเวณตัวเมืองสุโขทัย แต่ทำกันเป็นเพียงส่วนน้อย ในพื้นที่ที่มีการทำเครื่องสังคโลกเป็นจำนวนมากก็คือเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งจะเห็นจากการขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร พบว่ามีเตาเผาเครื่องสังคโลกเป็นจำนวนมากทั้งในตัวเมืองสุโขทัยและโดยเฉพาะเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะของเตาเผาที่พบจากแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกทั้ง 2 แหล่ง ที่กล่าวมานั้น จะจำแนกออกตามลักษณะของทางเดินของลมร้อน คือ ความร้อนภายในเตาที่ถูกบังคับให้เป็นตามทิศทางที่ต้องการได้ มี2 ประเภท คือ
1. เตาเผาชนิดที่ความร้อนระบายขึ้น
2. เตาเผาชนิดทางลมร้อนเดินผ่านหรือเดินตรง
(แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ที่ใส่ไฟ ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟ)
เตาเผาเครื่องสังคโลกนี้จะพบอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำเพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน และปั้นเป็นภาชนะต่างๆ แล้วจึงไปสู่ขั้นตอนของการเผาภาชนะ อีกทั้งแหล่งน้ำยังใช้เป็นเส้นทางการส่งออกที่สำคัญอีกด้วย
ที่มา : http://www.sac.or.th/databases/archaeology/sites/default/files/archaeology-site/11541477_987175964647590_1804021925_o.jpg |
แหล่งโบราณคดีที่สำรวจพบเตาสังคโลกหรือเตาทุเรียงมีอยู่ 3 แห่ง ดังนี้
1. เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งสำรวจพบในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตั้งอยู่ที่ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองสุโขทัย ใกล้กับวัดพระพายหลวงตามแนวฝั่งลำน้ำโจน เป็นเนินดินที่ชาวบ้านเรียกว่า เนินร่อนทอง นักโบราณคดีได้สำรวจพบเตาสังคโลกจำนวนไม่น้อยกว่า 49 เตา และในบริเวณที่พบเตาสังคโลก ยังปรากฏพบเศษถ้วยชามสังคโลกอยู่เป็นจำนวนมาก
เตาสังคโลกที่พบในบริเวณนี้ มีลักษณะเป็นเตาเผาแบบอิฐ กว้าง 1.50 - 2 เมตร ยาว 4 - 5 เมตร มีรูปแบบคล้ายกับประทุนเกวียน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ที่จุดเชื้อเพลิง ที่วางถ้วยชามและปล่องไฟระบายความร้อน คาดว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 อีกทั้งยังพบภาชนะถ้วยชามที่เป็นของใช้สอยเป็นส่วนใหญ่ เป็นเครื่องปั้นที่เคลือบสีน้ำตาลหรือสีดำแล้วเคลือบใสสีเขียวอ่อน และในการเผามักจะใช้กี๋ ซึ่งเป็นจานที่มีขา มีปุ่ม 5 ปุ่ม วางคั่นระหว่างชามแต่ละใบ
ที่มา : https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTIpuamqM-AzO-jyJ3rvPdGfuCbvtABOMYA4TivUXD861Ctu_j_KqSsa8wg |
2. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินดินและคันดินสูง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม ห่างจากตัวเมืองศรีสัชนาลัยไปทางทิศเหนือประมาณ 600-700 เมตร ซึ่งอยู่ในเขต ตำบลป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จากการสำรวจของกรมศิลปากร พบว่ามีเตาสังคโลกอยู่ประมาณ 21 เตา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเนินดินดินที่ทับถมสูง 2 - 4 เมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำยม
เตาในกลุ่มบ้านป่ายางมีลักษณะและรูปร่างเป็นเตาประทุน หรือเป็นเตาเผาชนิดที่มีความร้อนไหลผ่านในแนวนอน ทำให้เตาเผาชนิดนี้เป็นเตาที่ให้ความร้อนสูง และสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ดี ใช้เปาภาชนะประเภทเนื้อแกร่งและเครื่องเคลือบทั่วไป กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มเตายักษ์ เป็นกลุ่มเตาที่เรียงอยู่ใกล้กับตัวเมืองศรีสัชนาลัย มีเตาเผาเรียงรายกันอยู่ประมาณ 15 เตา นอกจากจะใช้เผาเครื่องภาชนะต่างๆแล้ว ยังใช้เผาประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ เครื่องประดับ รวมถึงสถาปัตยกรรต่างๆในบางพื้นที่อีกด้วย เช่น ยักษ์ เทวดา นาค ช่อฟ้า ใบระกา เป็นต้น สาเหตุที่เรียกว่าเตายักษ์ เนื่องจากว่ามีประติมากรรมรูปยักษ์อยู่ภายในเตา
- กลุ่มเตาตุ๊กตา อยู่ห่างจากกลุ่มเตายักษ์ประมาณ 600 เมตร เป็นกลุ่มเตาที่มีการผลิตประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก ทั้งรูปคน รูปสัตว์ มีลักษณะเป็นรูปตุ๊กตา จึงทำให้เรียกเตาเผานี้ว่าเตาตุ๊กตา
ที่มา : http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2009/07/E8098994/E8098994-39.jpg |
3. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำยมไหลผ่านทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมขนาดใหญ่ มีภูเขาอยู่ห่างออกไปในบริเวณบ้านดงยางและบ้านป่าคา บ้านเกาะน้อยอยู่ห่างจากตัวเมืองศรีสัชนาลัยออกไปทางทิศเหนือประมาณ 4-5 กิโลเมตร ลักษณะทั่วไปเป็นกลุ่มเตาเผาที่อยู่ทั้งบนดินและใต้ดิน จากสำรวจพบว่า มีเตาเผาอยู่ในบริเวณบ้านเกาะน้อย ไม่ต่ำกว่า 200 เตา ซึ่งลักษณะเตาเผาที่บ้านเกาะน้อย มีหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหน้าที่การใช้งาน แต่นักโบราณคดีจะแบ่งลักษณะของเตาตามลักษณะของทางเดินลม ดังนี้
- เตาเผาชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวนอน (Crossdraft Klin หรือ Horizontaldraft Klin) หรือเรียกอีกอย่างนึงว่าเตาประทุน เป็นเตาที่มีรูปร่างยาวขนานกับพื้น อาจลาดเอียงไปตามพื้นดิน มีหลังคาโค้งโดยตลอดจนไปถึงส่วนที่เป็นปล่องไฟ ซึ่งลักษณะภายในก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วน เหมือนๆกันโดยทั่วไป คือมีส่วนที่จุดไฟเผา ส่วนที่วางภาชนะ และส่วนที่เป็นปล่องระบายควัน และเตาชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 1,200 องศสเซลเซียส
- เตาเผาชนิดทางเดินลมร้อนผ่านในแนวขึ้น (Updraft klin) หรือที่เรียกว่าเตาตะกรับ เตาเผาชนิดนี้มักมีรูปร่างกลม หรือทรงสี่เหลี่ยม เป็นเตาที่สร้างขึ้นอย่างง่าย แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นห้องวางภาชนะ และส่วนที่เป็นห้องเผาไหม้ โดยจะมีตะกรับเตากั้นอยู่ระหว่างห้องทั้งสองส่วน เตาชนิดนี้จะทนความร้อนได้ไม่มากนัก สามารถเผาได้ในอุณหภูมิไม่เกิน 900 องศาเซลเซียส และเตาชนิดนี้มักจะใช้เผา กระเบื้อง ภาชนะหรือเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่มา: https://www.suikofriend.com/blog2/srisat/sisat-turiang.JPG |
ที่มา : http://www.lukhamhan.ac.th/course/sites/default/files/styles/flexslider_full/public/field/image/3.1-1-56%28500%29_0.jpg?itok=GNU0fgQi |
นอกจากนี้ยังมีเตาอีกเป็นจำนวนมากจมฝังอยู่ใต้ดิน ประมาณ 131 เตา และคาดว่าจะมีเตาที่สูญสลายไปแล้วอีกเป็นจำนวนมาก มีเครื่องถ้วยเคลือบ เครื่องถ้วยเผาต่างๆมากมาย เครื่องสังคโลกมีหลายสีด้วยกันทั้งสีน้ำตาล สีเหลืออ่อน สีขาว และสีเขียวไข่กา หรือเซลาดอน ที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก มีการเขียนลวดลายด้วยสีที่เข้มกว่า ลงบนภาชนะ ทำการชุบเคลือบและเผาในเตาสังคโลกหรือเตาทุเรียง มีการเรียงเครื่องถ้วยภายในเตาไม่ให้ซ้อนกัน โดยจัดวางภาชนะบนแท่งกลวง หรือ กี๋ จึงทำให้ก้นภาชนะมีวงแหวนปรากฏอยู่ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พบเตาสังคโลกหรือเตาทุเรียงเป็นจำนวนมาก เพราะในสมัยสุโขทัยมีการผลิตเครื่องสังคโลกส่งออกไปค้าขายยังต่างเมืองหรือต่างประเทศเป็นจำนวนมากเช่นกัน เรียกได้ว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นแหล่งผลิตชามสังคโลกที่มีชื่อเสียง และเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง มีการสืบทอดและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง น.32. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จาก http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/กลุ่มเตาทุเรียงบ้านป่ายาง-น32
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย น.33. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จาก http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย-น33
เสาวภาคย์. (2552). เตาทุเรียงสมัยสุโขทัย. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จาก http://siam-stories.blogspot.com/2009/12/blog-post_3359.html?m=1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น